สาระน่ารู้

การวางแผนการเงิน เพื่ออนาคตที่สดใส

การวางแผนการเงิน ถือเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตที่หลายคนมักมองข้าม  และใช้ชีวิตแก้ปัญหาไปวัน ๆ จนถึงจุด ๆ หนึ่ง จะมีภาระหนี้สินเกินกว่าจะรับได้  นั่นเป็นเพราะขาดการวางแผนทางการเงินนั่นเอง   คุณสามารถเลือกใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขได้  โดยเริ่มจากการวางแผนการเงินเสียแต่วันนี้  มาดูกันค่ะว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง

     การวางแผนการออมเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

     1. สำรวจตนเอง  ไม่ว่าท่านจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำการค้าขาย หรือลูกจ้างรายวัน  สิ่งที่ควรต้องทำคือ "บัญชีครัวเรือน" หรือ การบันทึกรายรับรายจ่าย  เพื่อที่ได้จะทราบว่ามีรายรายมาเท่าไหร่ และมีรายจ่ายเท่าไหร่ เรื่องอะไรบ้าง  ถ้าสามารถจดรายละเอียดทุกบาทได้จะยิ่งดี  พอสิ้นเดือนลองรวมตัวเลขดู แยกเป็นหมวดหมู่ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง , ค่าอาหาร , สุรา-บุหรี่ ฯลฯ

     2. กำหนดเป้าหมายการออม  ควรจะมีการออมอย่างน้อย 10 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย  เงินเดือนหมื่นห้า ก็ควรออมสัก 1,500 บาท เป็นอย่างน้อย  ถ้าเป็นข้าราชการก็สามารถหักบัญชีเงินเดือนอัตโนมัติเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานได้เลย  ถ้าไม่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ อาจทำข้อตกลงกับธนาคารที่เงินเดือนเข้า ให้หักเข้าบัญชีเงินเก็บอีกบัญชีเลยก็ได้  หากเป็นอาชีพอื่นก็ต้องมีวินัยกันมากหน่อย   นอกจากนี้หากสามารถออมเพิ่มในวาระพิเศษต่าง ๆ ได้ก็ยิ่งดี

     3. ลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้  หากการทำ บัญชีครัวเรือน ตามข้อที่ 1 ทำได้อย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ไม่จำเป็น สิ้นเปลือง และสามารถลดลงได้  เช่น ค่าสุรา-บุหรี่ , กาแฟเย็น , เสื้อผ้า , ค่าโทรศัพท์ , ค่าลอตเตอรี่ ,ค่าหอกิ๊ก อะไรแบบเนี้ย  ถ้าลดได้ก็มีเงินเหลือมากขึ้น

     4. ชลอการซื้อของฟุ่มเฟือย  ทุกวันนี้เราเป็นทาสบริโภคนิยม  ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารวดเร็ว และพลังแห่งการโฆษณา  เราจึงเกิดกิเลสอยากได้นู่น นี่ นั่น เรื่อย ๆ  เหมือนตกในวังวนแห่งการบริโภคของใหม่ที่ไม่จบสิ้น  เช่น สมาร์ทโฟน , รถยนต์ , ทีวี ฯลฯ ออกใหม่ทุกปี เปลี่ยนฟีเจอร์นิดหน่อย  ลองถามตัวเองว่าจำเป็นมั๊ย   อย่าไปคิดว่าผ่อนไหว เดือนนึงไม่เท่าไหร่  กลับไปดู บัญชีครัวเรือนอีกครั้ง

     5. อย่าใช้บัตรเครดิต  เพราะเมื่อคุณใช้มัน คุณจะหยุดไม่ได้ 55  และวงเงินจะเต็มในไม่ช้า(ประสบการณ์ตรง อิอิ)  ในทุกเดือนคุณจะเสียดอกเบี้ยไปไม่ใช่น้อย  หนี้อีกแบบที่มหาโหดคือ หนี้นอกระบบ  เพราะคิดดอกเบี้ยสูงมากแถมยังตามทวงหนี้แบบน่ากลัวอีก  อย่าได้เข้าใกล้เชียว

     6. ออมเพิ่มกับการประกันชีวิต  ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย  เราจะได้รับการรักษาที่ดี พร้อมกับค่าชดเชยรายวัน  หรือจะเลือกแบบบำนาญก็ได้   ข้อดีของการประกันชีวิตคือ เราจะได้รับการคุ้มครองตามแบบ  และสามารถลดหย่อนภาษีได้  โดยเฉพาะท่านที่ลาออกจาก กบข. ควรออมเพิ่มกับประกันชีวิตด้วย

     7. บริหารหนี้  คำกล่าวที่ว่า "การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ" นั้นเป็นจริง ^^  แต่ทุกท่านคงหลีกหนี้ไม่ได้  ดังนั้นสิ่งที่แนะนำได้คือ ไม่ควรเป็นหนี้หลายทาง การรวมหนี้เพื่อชำระทางเดียวจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เช่น กู้กับสถาบันการเงินอย่างธนาคาร หรือ สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ดอกต่ำที่สุด เพื่อปิดหนี้อื่น ๆ ให้หมด(แล้วอย่าไปสร้างใหม่อีกล่ะ)   การจะเป็นหนี้ทั้งที ก็ควรเป็นหนี้ที่มีเหตุผล ก่อประโยชน์ในอนาคต หรือ เป็นหนี้ที่เกิดรายได้ เช่น หนี้ซื้อบ้าน , การศึกษาบุตร , ซื้อตึกแถว , ที่ดิน ฯลฯ

     8. วางแผนลดภาษี  ถ้าท่านมีเงินได้ที่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ลองดูว่ามีอะไรบ้างที่สามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้ เตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม เช่น  ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ลดหย่อนบุตร อุปการะบิดามารดาที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปและไม่มีเงินได้  เงินบริจาค  เบี้ยประกันชีวิต  กองทุนรวม เป็นต้น

     9. วางแผนครอบครัว  การสร้างครอบครัวนั้น เรื่องการเงินมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง  แค่คบกันก็มีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย  ค่าสินสอด  ค่าใช้จ่ายงานแต่ง ฯลฯ  ต้องเผื่อเรื่องแบบนี้ไว้ด้วย  ไหนจะเรื่องการมีลูกอีก เด็กคนนึงมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่น้อยกว่าจะโต  มีลูกเมื่อพร้อมดีกว่า

     10. วางแผนที่อยู่อาศัย  ที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงที่ดี โดยเฉพาะพวกบ้าน ที่ดิน ของพวกนี้ราคาไล่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าจะเป็นหนี้ก้อนโตเพราะเหตุผลนี้ มันก็สมควรอยู่  แต่ยังไงก็ต้องให้เหลือเงินพอกับการใช้จ่ายประจำเดือนด้วยนะ

     11. วางแผนเกษียณ  ถ้าเป็นข้าราชการ หรือพนักงาน ปกติจะเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี  ถ้าตอนนี้คุณอายุมากกว่า 50 แล้วยังอยู่บ้านพักสวัสดิการของที่ทำงาน ไม่มีที่อยู่หลังเกษียณ  มีแต่หนี้ก้อนโต  อย่างนี้แปลว่าคุณจะเกษียณอย่างลำบากแน่ ๆ  อย่างนี้ต้องเร่งวางแผน  ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่  วางแผนก่อนย่อมได้เปรียบ  แม้สุดท้ายจะไม่บรรลุเป้าหมาย แต่รับรองว่าดีกว่าแน่นอน

     ลองนึกดูเล่น ๆ ว่าคุณต้องการเกษียณแบบไหน  ถ้าเป็นข้าราชการเลือกรับบำนาญ ก็จะได้เงินรายเดือน  ถ้าไม่มีภาระอื่นก็จะอยู่ได้อย่างสบาย  แต่ถ้าคุณไม่มีบำนาญ ต้องวางแผนให้ดีทีเดียว ต้องมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง  มีแหล่งรายได้จากการลงทุนอื่น ๆ  เพื่อดำรงชีพรายเดือนตามสมควร

     12. การลงทุน  คงเคยได้ยินคำว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"  ก็ไม่ได้จะชวนเล่นหุ้น  เพราะแน่นอนว่าต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ ไม่งั้นคุณได้เป็นแมงเม่า เผาเงินเก็บตัวเองแน่  ดังนั้นทางเลือกที่ปลอดภัยก็คือ กองทุนรวม ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้  คุณจะได้ค่าตอบแทนหน่วยลงทุน และสามารถขายออกได้ด้วย  หากจะลงทุนในรูปแบบอื่น ให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ  รูปแบบการลงทุน อาทิ  ตราสารหนี้ , กองทุนรวม , พันธบัตร , กองทุนทอง

     13. การประกอบอาชีพเสริม  ทางเลือกในการสร้างรายได้อย่างหนึ่งคืออาชีพเสริม ซึ่งมีหลากหลาย เช่น ทำการเกษตร , ค้าขาย , งานบริการ , ขายตรง ฯลฯ  ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้  ก็ต้องระวังอย่าให้ขาดทุน  ถ้าทำแล้วขาดทุน กำไรน้อย ต้องพิจารณาทางเลือกอื่นแล้วล่ะ

     จะเห็นได้ว่าการวางแผนการเงินนั้น มีรายละเอียดมากมาย  และยากที่จะทำได้ตามแผน  แต่ถ้าคุณเริ่มต้นเสียแต่วันนี้  ภายในเวลา 5 ปี  คุณก็จะเริ่มเห็นดอกผลของการออมที่จะตอบแทนคุณมากขึ้น ๆ  และไม่ทำให้คุณล้มละลายทางการเงินอย่างแน่นอน  ขอให้มีความสุขกับการออม ^^

ปล. 

About Supika

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.